หลักการและเหตุผล
ด้วยนโยบายคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ที่ผ่านมานั้นนโยบายด้านการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศข้อ 6.18 แถลงไว้ว่า ต้องการให้มีการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัลและวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล ให้เริ่มขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้ทุกภาคเศรษฐกิจก้าวหน้าไปได้ทันโลกและสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่ได้ ทั้งนี้ เศรษฐกิจดิจิทัล หมายถึง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นกลไกหลักที่ปฏิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ รวมทั้งการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนจนกลายเป็นระบบดิจิทัล ทำให้มีความยืดหยุ่นสูง สามารถรองรับและปรับตัว ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม การจ้างงานที่ดีขึ้น การดำเนินกิจกรรมทางสังคม ของปัจเจกชน องค์กร และชุมชน การให้บริการของภาครัฐ ตลอดจนถึง การเรียนรู้ เข้าถึง และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล
VIDEO
สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในฐานะหน่วยงานหลักซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบาย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล จึงได้ดำเนินโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ Smart City จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต โดยมุ่งหวังให้ประชาชน นักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตได้ใช้ประโยชน์ดังต่อไปนี้
1. ให้ประชาชนในจังหวัดภูเก็ตสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตเข้าถึงข้อมูลและบริการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอาชีพ สร้างธุรกิจ และเพิ่มรายได้ในชุมชน ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนผ่านบริการดิจิทัลต่าง ๆ ทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับ ประชาชนทุกคน และการเข้าถึงบริการสุขภาพภาครัฐที่ทันสมัยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
2. ให้ชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวสามารถใช้ประโยชน์จากบริกการอินเทอร์เน็ตในการทำกิจกรรมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงช่วยสร้างบรรยากาศ และเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนทำธุรกิจในจังหวัดภูเก็ตต่อไป
3. ให้จังหวัดภูเก็ตมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น พร้อมที่จะรองรับการใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Internet of Things (IoT) และนวัตกรรมอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็น Smart City ซึ่งจะดำเนินการในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต โดยมีรายละเอียดการดำเนินงาน ดังนี้
3.1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะด้วยเทคโนโลยีไร้สาย Wi-Fi (Hi-speed Wi-Fi) จำนวนไม่น้อยกว่า100 สถานที่ และมีจุดให้บริการรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 1,000จุดบริการ อัตราการรับ/ส่งข้อมูลความเร็วไม่น้อยกว่า 100/25 Mbpsผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable) หรือโครงข่ายประสิทธิภาพสูงเป็นโครงข่ายหลัก ลากไปยังพื้นที่เป้าหมาย และกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโครงข่ายไร้สาย Wi-Fi
3.2 ให้บริการอุปกรณ์ Digital Signage พร้อมระบบที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อยกว่า 21 จุด
3.3 ให้บริการอุปกรณ์ Beacon พร้อมระบบที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 จุด
3.4 ให้บริการระบบ Smart City Platformประกอบด้วย
3.4.1 ระบบ Smart City MobileApplicationสำหรับเป็นเครื่องมือเป็นเครื่องมือให้ประชาชนผู้ นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ได้รับข้อมูลข่าวสารทางตรง ถูกต้องจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และได้รับข้อมูลการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ พร้อมสิทธิประโยชน์ที่จำเพาะเจาะจงในพื้นที่ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในพื้นที่หรือจังหวัดได้อีกทางหนึ่งด้วย
3.4.2 ระบบจัดเก็บข้อมูลและการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ (Big Data) พร้อมให้บริการข้อมูลในลักษณะ Open Data ได้
3.4.3 ระบบรายงานเพื่อการบริหารจัดการข้อมูล (Reporting Tool)สำหรับนำเสนอข้อมูลหรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจในการบริหารจัดการ Smart City ได้
ดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น Smart Phuket 4.0
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะด้วยเทคโนโลยีไร้สาย Wi-Fi (Hi-speed Wi-Fi)สำหรับประชาชน นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติ ณ พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต จำนวนไม่น้อยกว่า 100สถานที่และมีจุดให้บริการทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 1,000 จุด ให้บริการอัตราการรับ/ส่งข้อมูลความเร็วไม่น้อยกว่า 100/25 Mbpsผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable) หรือโครงข่ายประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รวมถึงพื้นที่เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดภูเก็ตด้วย
2. เพื่อให้มีช่องทางในการช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านการสื่อสาร และเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลสำหรับ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไป รวมไปถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านข้อมูลข่าวสารของรัฐและการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตผ่านทางอุปกรณ์ Digital Signageพร้อมระบบที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อยกว่า 21 จุด
3. เพื่อให้มีช่องทางการบริการข้อมูลแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต สำหรับรองรับการดำเนินการพัฒนาSmart Cityดังนี้
3.1 จัดให้มีอุปกรณ์ Beacon จำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 จุดพร้อมระบบที่เกี่ยวข้อง
3.2 จัดให้มีระบบ Smart City Platform จำนวน 1 ระบบ
กองโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการดิจิทัล
สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ